Twitter Facebook Google Plus LinkedIn RSS Feed Email
 
 

กะเพราเป็นไม้พุ่มล้มลุก

18.11.12

กะเพรา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum sanctum linn. เป็นพืชที่อยู่ในตระกูล Labiatae พืชตระกูลนี้ที่สำคัญได้แก่ โหระพา แมงลัก เป็นต้น ชื่ออื่นๆ ที่คนไทยเรียกกะเพราได้แก่ ภาคกลางเรียก กระเพราแดง, กระเพราขาว ภาคเหนือและเชียงใหม่เรียก ก่ำก้อขาว, ก่ำก้อดำ, กอมก้อขาว, กอมก้อดำ ส่วนชาวกะเหรี่ยงและแถวจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียก ห่อตูปลู, ห่อกวอซู


กะเพราเป็นไม้พุ่มล้มลุก แตกกิ่งก้านสาขาสูงประมาณ 30 – 60 ซม. ซึ่งอาจสูงถึง 1 เมตร โคนลำต้นค่อนข้างแข็ง ตามลำต้นมีขน ใบเป็นใบเดี่ยว การเกาะติดของใบบนกิ่งแบบตรงข้าม สลับกับใบที่ตั้งฉากกันเรียงอยู่ตรงข้าม ลักษณะใบเป็นรูปรี กว้าง 1-3 ซม. ยาว 2.5-5 ซม.ใบปลายแหลมหรือมน โคนแหลม ขอบจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบมีขน ดอกเป็นแบบช่อฉัตร ออกบริเวณปลายยอดและปลายกิ่ง ยาว 8-10 ซม. ดอกย่อยมีขนาดเล็ก รูปคล้ายระฆัง กลีบดอกมีทั้งชนิดสีขาวลายม่วงแดงและสีขาว โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นกรวย ส่วนปลายแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนบนแยกเป็น 4 กลีบปลายแหลมเรียว ส่วนล่างมีกลีบเดียวค่อนข้างกลม ผิวกลีบด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขนตามโคนกลีบ กลีบเลี้ยงสีแดงน้ำตาลแกมม่วง และสีเขียว เนื้อกลีบแข็ง ส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นกรวย ส่วนปลายแยกเป็นกลีบปลายแหลมแบบหนาม ก้านดอกย่อยสีเขียว ยาวประมาณ 0.20 – 0.30 ซม. ผลแห้งแล้วแตกออก เมล็ดเล็กมีรูปไข่สีน้ำตาล

ใบกะเพรานั้นมีน้ำมันหอมระเหยสีเหลือง มีกลิ่นหอมฉุนคล้ายกลิ่นของน้ำมันกานพลู ส่วนในเมล็ดจะมีน้ำมันระเหยยากสีเหลืองอมเขียว คุณภาพของน้ำมันหอมระเหยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุ สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ

กะเพราเป็นพืชที่ปลูกในแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานแล้ว โดยเฉพาะในประเทศไทยและมาเลเซีย กะเพรามีอยู่ด้วยกัน 3 พันธุ์ คือ กะเพราแดง, กะเพราขาว และกะเพราลูกผสมระหว่างกะเพราแดงและกะเพราขาว แต่ที่นิยมปลูกกันทั่วไปมีอยู่ 2 ชนิด คือ กะเพราขาวและกะเพราแดง ซึ่งมีเรียกชื่อตามสีของก้านใบและก้านดอก


กะเพราเป็นพืชและผักจำพวกเครื่องเทศ  สามารถนำใบสดและใบอ่อนมาประกอบอาหาร เป็นพืชที่ใช้แต่งกลิ่นอาหารให้อาหารมีกลิ่นหอม และใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น ใส่ในแกงป่า, แกงเผ็ด, ผัดเผ็ดเนื้อชนิดต่างๆ โดยจะใส่ใบกะเพราสดลงในอาหารหลังจากสุก ก่อนที่จะยกลงจากเตา สามารถใช้กะเพราเป็นผักชูรส เช่น นำไปปรุงผัดกะเพรา, ใส่ในหอยนึ่ง ฯลฯ นอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารมากมายแล้ว ผลพลอยได้จากการบริโภคกะเพรายังช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์ สามารถนำไปปรุงเป็นยาสมุนไพร ทำให้เลือดลมดี


0 comments:

Post a Comment

 
Copyright © 2025-2012 กะเพราสรรพคุณ.com All Rights Reserved | Design by Guru